Luxembourg Compromise (1966-1987)

การประนีประนอมแห่งลักเซมเบิร์ก (๒๕๐๙-๒๕๓๐)

​​     การประนีประนอมแห่งลักเซมเบิร์กเป็นความตกลงอย่างไม่เป็นทางการระหว่างประเทศสมาชิกทั้งหกของประชาคมยุโรป (European Community - EC)* ที่มีขึ้นในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๖๖ เพื่อยุติวิกฤตการณ์ภายในประชาคมยุโรปที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของ ค.ศ. ๑๙๖๕ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปในชื่อ "วิกฤตการณ์ที่นั่งว่าง" (Empty Chair Crisis) ภายใต้ความตกลงดังกล่าว การตัดสินใจของคณะมนตรีแห่งประชาคมยุโรป (Council of Ministers) ตามที่กำหนดไว้ในสนธิสัญญาโรม (Treaty of Rome)* ฉบับ ค.ศ. ๑๙๕๗ ว่าให้มีการปรับเปลี่ยนวิธีการลงคะแนนเสียงจากการใช้เสียงอย่างเป็นเอกฉันท์ (Unanimity) มาเป็นการใช้เสียงข้างมากอย่างมีเงื่อนไข (Qualified Majority Voting - QMV) ใน ค.ศ. ๑๙๖๖ นั้นได้เลื่อนกำหนดเวลาการเริ่มใช้อย่างสมบูรณ์ออกไปจนกว่าประเทศสมาชิกจะสามารถบรรลุฉันทามติในเรื่องนี้ได้ ความตกลงเพื่อการประนีประนอมแห่งลักเซมเบิร์กจึงมีผลให้สมาชิกของประชาคมยุโรปสามารถใช้สิทธิยับยั้ง เพื่อขัดขวางการผ่านมติในเรื่องที่สำคัญ ๆ ของคณะมนตรีได้จนกลายเป็นอุปสรรคในการพัฒนากระบวนการบูรณาการยุโรป (European integration) อยู่เป็นเวลานานจนถึง ค.ศ. ๑๙๘๗ เมื่อกฎหมายยุโรปตลาดเดียว (Single European Act - SEA)* ซึ่งกำหนดให้มีการใช้วิธีการลงคะแนนเสียงข้างมากในการตัดสินใจของคณะมนตรีทางด้านนโยบายมีผลบังคับใช้ นอกจากนี้ ความตกลงยังมีผลทำให้ดุลอำนาจภายในประชาคมยุโรปโอนเอียงมายังประเทศสมาชิกเหนือกว่าองค์กรของประชาคม จนทำให้ประชาคมยุโรปมีลักษณะเป็น"องค์การความร่วมมือระหว่างรัฐบาล" มากกว่าเป็น "องค์การเหนือรัฐ" อันเป็นการผิดไปจากวัตถุประสงค์ดั้งเดิมของการจัดตั้งประชาคมยุโรป
     หลังจากที่ประชาคมยุโรปได้รับการสถาปนามาได้ไม่ถึง ๑ ทศวรรษก็ได้เกิดวิกฤตการณ์ครั้งสำคัญขึ้นในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๖๕ หลังจากที่วอลเทอร์ ฮัลล์ชไตน์ (Walter Hallstein) ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ได้ยื่นข้อเสนอต่อที่ประชุมคณะมนตรีในวันที่ ๒๘ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๖๕ เรียกร้องให้มีการปฏิรูปกลไกทางสถาบันของ ประชาคมเพื่อถ่ายโอนอำนาจจากประเทศสมาชิกมาสู่สถาบันในระดับประชาคมให้มากขึ้น ทั้งนี้ โดยระบุให้มีการเพิ่มอำนาจอย่างกว้างขวางในการพิจารณาและอนุมัติงบประมาณของประชาคมให้แก่รัฐสภายุโรป (European Parliament - EP) ควบคู่ไปกับการสถาปนาระบบแหล่งการเงินของประชาคม (Own Resources) ขึ้นมาแทนที่ระบบเดิมที่ได้รับเงินช่วยจากประเทศสมาชิกภายใน ค.ศ. ๑๙๖๕ ก่อนตารางเวลาเดิมที่สนธิสัญญากำหนดไว้ใน ค.ศ. ๑๙๗๐ เขายังเรียกร้องให้จัดระบบการจัดสรรงบประมาณให้แก่นโยบายร่วมด้านการเกษตร (Common Agricultural Policy - CAP) ใหม่ด้วยเพื่อให้สอดคล้องกับการนำระบบแหล่งการเงินมาใช้และเสนอให้ประเทศสมาชิกเตรียมการใช้ระบบการออกเสียงข้างมากในคณะมนตรีใน ค.ศ. ๑๙๖๖ ตามกำหนดเวลาที่ระบุไว้ในสนธิสัญญาโรมด้วย ข้อเสนอเหล่านี้ได้ก่อให้เกิดความไม่พอใจเป็นอย่างมากแก่ฝรั่งเศสที่มี ชาร์ล เดอ โกล (Charles de Gaulle)* เป็นผู้นำ เดอ โกล ซึ่งเป็นผู้ที่มีความเป็นชาตินิยมสูงและยึดถือผลประโยชน์ของชาติเหนือสิ่งอื่นใด เห็นว่าการเพิ่มอำนาจให้แก่กลไกการดำเนินงานของประชาคมเท่ากับเป็นการลดทอน อำนาจของประเทศสมาชิก ทั้งจะทำให้ประชาคมยุโรปมีความเป็นองค์การเหนือรัฐมากขึ้น อันจะกลายเป็นอุปสรรคสำคัญต่อ "แผนอันยิ่งใหญ่" (Grand Designs) ของเขาที่ต้องการทำให้ประชาคมยุโรปเป็นองค์การระหว่างประเทศในลักษณะความร่วมมือระหว่างรัฐอธิปไตยหรือ "ยุโรปของนานารัฐชาติ" (Europe of the Nation-States) ที่มีฝรั่งเศสเป็นผู้นำ เขาจึงไม่ต้องการให้มีการปฏิรูปใด ๆ เกิดขึ้น โดยเฉพาะการเพิ่มอำนาจให้แก่คณะกรรมาธิการยุโรปและรัฐสภายุโรป ส่วนในเรื่องการนำระบบแหล่งการเงินของประชาคมมาใช้นั้นแม้ว่าจะเป็นสิ่งที่เดอ โกลต้องการเพราะจะเป็นการช่วยลดภาระทางด้านการเงินของฝรั่งเศสที่ต้องให้แก่ประชาคมก็ตาม แต่เขาก็ไม่ต้องการเห็นประธานคณะกรรมาธิการยุโรป โดยเฉพาะฮัลล์ชไตน์ซึ่งเป็นชาวเยอรมันมีอำนาจทางการเมืองภายในประชาคมมากเกินไป เนื่องจากข้อเสนอดังกล่าวเป็นเสมือนความพยายามที่จะใช้อำนาจอย่างเป็นอิสระของคณะกรรมาธิการยุโรปเหนือประเทศสมาชิกนั่นเอง ในขณะที่ ฮัลล์ชไตน์เองก็ถือว่าเขาทำงานเพื่อพัฒนาประชาคมยุโรปในยุคหลังชาตินิยมมากกว่าเพื่อวัตถุประสงค์อื่นใด ความขัดแย้งส่วนบุคคลดังกล่าวจึงกลายเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งของวิกฤตการณ์ครั้งนี้
     รัฐบาลฝรั่งเศสได้ร่วมมือกับประธานาธิบดีเดอโกลปฏิเสธข้อเสนอของประธานคณะกรรมาธิการยุโรปอย่างแข็งขันและดำเนินการประท้วงในทันที โดยสั่งให้ กูฟวร์ เดอ มูร์วิล (Couvre de Murville) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานคณะมนตรีแห่งประชาคมยุโรปเดินออกจากที่ประชุมคณะมนตรีในวันที่ ๑ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๖๕ ส่งผลให้ การประชุมซึ่งเริ่มมาตั้งแต่วันที่ ๒๘ มิถุนายนยุติลงในวันนั้นหลังจากเปิดประชุมในช่วงเช้าได้ไม่นาน รัฐบาลฝรั่งเศสยังถอนผู้แทนของตนในตำแหน่งสำคัญ ๆ ในองค์กรต่าง ๆ ของประชาคมยุโรปที่ประจำอยู่ที่กรุงบรัสเซลส์และลักเซมเบิร์กกลับประเทศทั้งหมดเว้นเพียงเจ้าหน้าที่ที่ ทำงานประจำเท่านั้น พร้อมทั้งประกาศเป็นเชิงข่มขู่ว่าฝรั่งเศสอาจลาออกจากสมาชิกภาพของประชาคมยุโรปหากสถานการณ์บีบบังคับ การประท้วง ดังกล่าวก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ที่นั่งว่างภายในประชาคมนานกว่า ๖ เดือนวิกฤตการณ์ครั้งนี้ได้ก่อให้เกิดผลกระทบอันยาวนานต่อพัฒนาการของประชาคมยุโรปหลายประการ เพราะไม่เพียงแต่ก่อให้เกิดภาวะชะงักงันขึ้นทั้งในกระบวนการดำเนินงานขององค์กรสำคัญต่าง ๆ และกระบวนการบูรณาการยุโรปเนื่องจากไม่มีผู้แทนของฝรั่งเศสร่วมทำงานและประชุมอยู่ด้วยเท่านั้นหากแต่ยังก่อให้เกิดความตึงเครียดทางการเมืองภายในประชาคมด้วย ในขณะเดียวกันก็สะท้อนปัญหาในการจัดสรรอำนาจระหว่างอำนาจของประเทศสมาชิกกับอำนาจของสถาบันของประชาคมยุโรปซึ่งจะมีผลต่อกระบวนการบูรณาการยุโรปในอนาคตด้วย
     ต่อมา ในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๖๕ ประธานาธิบดีเดอ โกลยังทำให้สถานการณ์ภายในประชาคมตึงเครียดมากยิ่งขึ้น โดยจัดให้มีการประชุมเพื่อแถลงข่าวแก่ผู้สื่อข่าวนานาชาติขึ้นที่กรุงปารีส เขาประกาศอย่างชัดเจนว่าฝรั่งเศสไม่ยอมรับบทบัญญัติของสนธิสัญญาโรมในมาตราที่กำหนดให้คณะมนตรีแห่งประชาคมยุโรปใช้วิธีการลงคะแนนเสียงแบบเสียงข้างมากอย่างมีเงื่อนไขในเรื่องที่สำคัญแทนการลงคะแนนเสียงแบบเอกฉันท์ที่กำหนดว่าจะเริ่มขึ้นในระยะที่ ๓ ของการปรับตัวในวันที่ ๑ มกราคม ค.ศ. ๑๙๖๖ เพราะฝรั่งเศสเห็นว่าวิธีการลงคะแนนเสียงข้างมากในการตัดสินใจกำหนดนโยบายของประชาคมยุโรปจะทำให้ฝรั่งเศสถูกครอบงำทั้งในด้านเศรษฐกิจสังคมและการเมืองได้ เนื่องจากจะเป็นการเพิ่มอำนาจการตัดสินใจให้แก่คณะกรรมาธิการยุโรปซึ่งถือเป็นองค์กรของ "พวกเทคโนแครตและต่างชาติเป็นส่วนใหญ่" และลดทอนอำนาจในการตัดสินใจของคณะมนตรีซึ่งเป็นองค์กรตัวแทนเจตนารมณ์และผลประโยชน์ของประเทศสมาชิกอย่างแท้จริง นอกจากนี้ เดอ โกลยังโจมตีการใช้อำนาจอย่างอิสระของประธานคณะกรรมาธิการยุโรปพร้อมทั้งย้ำว่าฝรั่งเศสจะดำเนินการคว่ำบาตรต่อไปจนกว่าประเทศสมาชิกจะจัดทำระเบียบการจัดสรรงบประมาณฉบับใหม่ให้แก่นโยบายร่วมด้านการเกษตร ให้คณะกรรมาธิการยุโรปลดการใช้อำนาจอย่างเป็นอิสระลง และมีการถอนมาตราต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการลงคะแนนเสียง ข้างมากออกไปจากสนธิสัญญาโรม โดยกล่าวเพิ่มเติมว่าสนธิสัญญาโรมจัดทำขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๕๗ ในสมัยสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ ๔ (Fourth French Republic) ซึ่งเป็นช่วงที่รัฐบาลฝรั่งเศสกำลังอ่อนแอจึงมีข้อบกพร่องที่ ก่อให้เกิดวิกฤตการณ์อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
     ในขณะนั้น แม้ว่าชาติสมาชิกบางประเทศจะเริ่มกังวลกับการนำระบบการออกเสียงข้างมากแบบมีเงื่อนไขมาใช้ก็ตาม แต่ก็ไม่มีผู้ใดเห็นด้วยกับการคัดค้านของฝรั่งเศส ทั้งยังไม่ต้องการให้มีการเจรจาเพื่อแก้ไขสนธิสัญญาโรมด้วย จึงไม่ยอมอ่อนข้อให้แก่การคว่ำบาตรของเดอ โกล ในทางตรงกันข้ามประเทศสมาชิกทั้ง ๕ ประเทศ ได้แก่ เยอรมนีตะวันตก อิตาลี เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ และลักเซมเบิร์กกลับรวมตัวกันอย่างเหนียวแน่นเพื่อหาทางแก้ไขสถานการณ์ ปัญหาหลักจึงมิใช่อยู่ที่การคุกคามเอกภาพของประชาคม แต่อยู่ที่ "การรักษาหน้า" ของฝรั่งเศสซึ่งเป็นสมาชิกหลักผู้ก่อตั้งประชาคมยุโรปมากกว่า ในช่วงฤดูใบไม้ร่วง ค.ศ. ๑๙๖๕ ประเทศสมาชิกทั้งห้าได้จัดให้มีการประชุมคณะมนตรีวาระพิเศษหลายครั้ง โดยไม่มีประธานคณะกรรมาธิการยุโรปร่วมด้วยและไม่มีการจดรายงานการประชุม แต่ปัญหาก็ยังไม่คลี่คลายลง
     อย่างไรก็ดี วิกฤตการณ์ได้ดำเนินมาจนถึงจุดพลิกผันในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๖๕ เมื่อผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีของฝรั่งเศสปรากฏว่า เดอ โกล ซึ่งสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมัยที่ ๒ ไม่ได้รับชัยชนะอย่าง เด็ดขาดในการเลือกตั้งรอบแรก ฟรองซัว มิตแตร์รอง (François Mitterrand)* และชอง เลอกานูเอ (Jean Lecanuet) คู่แข่งของเดอ โกล ซึ่งมีนโยบายสนับสนุนการบูรณาการยุโรปกลับได้คะแนนเสียงจากประชาชนในสัดส่วนสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้จนทำให้ต้องมีการเลือกตั้งในรอบที่ ๒ แม้ในการเลือกตั้งรอบที่ ๒ เดอ โกล จะได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีอีกวาระหนึ่งก็ตาม แต่ ผลการลงคะแนนเสียงทั้ง ๒ ครั้งก็สะท้อนอย่างชัดเจนว่าชาวฝรั่งเศสจำนวนมากไม่เห็นด้วยกับนโยบายต่อต้านการบูรณาการยุโรปของเขา ประธานาธิบดีเดอ โกลและรัฐบาลฝรั่งเศสจึงเริ่มปรับเปลี่ยนท่าทีโดยหันมาร่วมมือประนีประนอมกับประเทศสมาชิกอีก ๕ ประเทศมากขึ้น
     ในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๖๖ ได้มีการเปิดประชุมคณะมนตรีวาระพิเศษขึ้น ๒ ครั้งที่กรุงลักเซมเบิร์ก โดยมีนายกรัฐมนตรีของลักเซมเบิร์กซึ่งเป็นประธานคณะมนตรีในช่วงครึ่งแรกของ ค.ศ. ๑๙๖๖ เป็นประธาน วัตถุประสงค์ของการประชุมคือ การหาข้อตกลงระหว่างประเทศสมาชิกเพื่อยุติวิกฤตการณ์ที่นั่งว่าง ในการประชุมทั้ง ๒ ครั้ง ผู้เข้าร่วมประชุมมีเพียงผู้แทนของประเทศสมาชิกทั้งหกเท่านั้น โดยไม่มีประธานหรือผู้แทนของคณะกรรมาธิการยุโรปเข้าร่วมด้วยแต่อย่างใดการประชุมวาระพิเศษครั้งแรกเกิดขึ้นระหว่างวันที่ ๑๗-๑๘ มกราคมสมาชิก ๕ ประเทศของประชาคมยุโรปต่างยืนกรานไม่ยอมประนีประนอมกับฝรั่งเศสในประเด็นกำหนดเวลาการเริ่มใช้ระบบการออกเสียงข้างมากอย่างมีเงื่อนไขในการตัดสินใจของคณะมนตรีแต่ในประเด็นปัญหาอื่น ๆ นั้น ที่ประชุมสามารถหาข้อยุติได้ในระดับหนึ่ง คือ ทุกฝ่ายเห็นชอบเรื่องการกำหนดจำนวนงบประมาณที่จะใช้สำหรับนโยบายร่วมด้านการเกษตรแต่เรื่องการประกาศใช้แหล่งเงินของประชาคมยุโรปเอง แทนระบบเดิมรวมทั้งการมอบอำนาจในการพิจารณาและอนุมัติงบประมาณให้แก่รัฐสภายุโรปเพิ่มขึ้นนั้นที่ประชุมเห็นพ้องให้มีการเลื่อนกำหนดเวลาออกไปจนถึง ค.ศ. ๑๙๗๐
     ในการประชุมวาระพิเศษครั้งที่ ๒ ระหว่างวันที่ ๒๘-๒๙ มกราคม ที่ประชุมได้อภิปรายปัญหาต่าง ๆ อย่างกว้างขวางอีกครั้งหนึ่ง และมีมติเห็นชอบให้จัดทำความตกลงอย่างไม่เป็นทางการระหว่างประเทศสมาชิกโดยไม่ต้องมีการแก้ไขสนธิสัญญาเป็นเอกสารผนวกไว้ในบันทึกท้ายการประชุม เอกสารดังกล่าวได้รับการลงนามในวันที่ ๒๙ มกราคม ค.ศ. ๑๙๖๖ ณ กรุงลักเซมเบิร์กจึงเป็นที่รู้จักกันในนาม "การประนีประนอมแห่งลักเซมเบิร์ก" มีสาระสำคัญคือ การออกเสียงเพื่อตัดสินใจในที่ประชุมคณะมนตรีประชาคมยุโรปในระยะปรับตัวขั้นตอนที่ ๓ ซึ่งเริ่มต้นในวันที่ ๑ มกราคม ค.ศ. ๑๙๖๖ นั้นการใช้วิธีการลงคะแนนเสียงข้างมากอย่างมีเงื่อนไขแทนวิธีการลงคะแนนเสียงแบบเอกฉันท์จะใช้เฉพาะบางเรื่องตามข้อกำหนดที่ ระบุไว้ในสนธิสัญญาโรมฉบับ ค.ศ. ๑๙๕๗ เท่านั้น ส่วนการออกเสียงในที่ประชุมคณะมนตรีโดยเฉพาะในเรื่องที่ถือเป็น "ผลประโยชน์สำคัญ" ของประเทศสมาชิกยังคงให้ใช้วิธีการลงคะแนนเสียงแบบเอกฉันท์อยู่ต่อไป ซึ่งหมายความว่าประเทศสมาชิกสามารถใช้สิทธิยับยั้งได้เหมือนเดิม การเริ่มใช้วิธีการออกเสียงข้างมากแบบมีเงื่อนไขทั้งหมดนั้นจะมีการกำหนดเวลาที่ แน่นอนอีกครั้งเมื่อบรรดาประเทศสมาชิกบรรลุฉันทามติ
     มีการจำกัดขอบเขตอำนาจของคณะกรรมาธิการยุโรปโดยยอมให้คณะกรรมาธิการเป็นผู้เสนอข้อริเริ่มทางนิติบัญญัติได้เหมือนเดิมแต่ต้องประสานงานและหารือกับคณะกรรมการผู้แทนถาวรจากรัฐบาลประเทศสมาชิกของประชาคมยุโรป (Committee of Permanent Representatives - COREPER) ด้วย สาระสำคัญในข้อนี้ส่งผลให้คณะกรรมการผู้แทนถาวรจาก ประเทศสมาชิกมีบทบาทมากขึ้น เนื่องจากการทำงานระหว่างคณะกรรมาธิการยุโรปกับคณะกรรมการผู้แทนถาวรดังกล่าวกลายเป็นการเจรจาต่อรองระหว่างประเทศสมาชิก ในขณะที่ความเป็นอิสระของคณะกรรมาธิการยุโรปในฐานะที่เป็นสถาบันตัวแทนผลประโยชน์ร่วมกันของประชาคมยุโรปถูกลิดรอนลงไปโดยการเพิ่มบทบาทให้แก่รัฐบาลประเทศสมาชิกผ่านทางคณะกรรมการผู้แทนถาวร จึงเท่ากับว่าดุลแห่งอำนาจในประชาคมยุโรปได้เอนเอียงมายังประเทศสมาชิกมากกว่าสถาบันของประชาคม นอกจากนี้ อำนาจในด้านนิติบัญญัติของคณะกรรมาธิการในคณะมนตรียังถูกลดลงเนื่องจากการใช้ระบบมติเอกฉันท์ซึ่งสมาชิกสามารถใช้สิทธิยับยั้งในกระบวนการตัดสินใจ
     หลังการลงนามในความตกลงเพื่อการประนีประนอมแห่งลักเซมเบิร์กแล้ว ผู้แทนของฝรั่งเศสก็ได้กลับเข้าร่วมที่ประชุมของประชาคมยุโรปอีกครั้ง วิกฤตการณ์ที่นั่งว่างจึงยุติลงในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๖๖ และ ประชาคมก็ได้ใช้ความตกลงดังกล่าวเป็นกรอบของการออกเสียงในคณะมนตรีสืบต่อมากว่า ๒๐ ปี อย่างไรก็ดี หลัง ค.ศ. ๑๙๖๖ ได้มีการใช้การออกเสียงข้างมากแบบมีเงื่อนไขในคณะมนตรีมากขึ้น แต่ไม่ได้ใช้กับเรื่องที่ เป็น "ผลประโยชน์สำคัญ" ตามนิยามอย่างหลวม ๆ ที่ประเทศสมาชิกให้ไว้ การประนีประนอมแห่งลักเซมเบิร์กจึงเป็นเสมือนเครื่องมือที่ประเทศสมาชิกใช้ปกป้องผลประโยชน์ของชาติตน ซึ่งในบางครั้งเกิดจากแรงกดดันจากปัญหาภายในประเทศของชาติสมาชิกเองทำให้มีการใช้มติเอกฉันท์ในคณะมนตรีเป็นส่วนใหญ่อันเป็นการผิดไปจากเจตนารมณ์แห่งสนธิสัญญาจัดตั้งประชาคมยุโรป รวมทั้งวัตถุประสงค์ดั้งเดิมของบรรดานักนิยมยุโรป (Europeanist) ด้วย
     อย่างไรก็ดี ในทศวรรษ ๑๙๗๐ ได้มีความพยายามที่จะทำให้คณะมนตรีหันมาใช้ระบบการออกเสียงข้างมากมากขึ้น เช่นความพยายามของประธานาธิบดีวาเลรี ชีสการ์ เดสแตง (Valéry Giscard d’ Estaing) แห่งฝรั่งเศสใน ค.ศ. ๑๙๗๔ ที่จะทำให้ประเทศสมาชิกยินยอมกลับมาใช้ระบบการออกเสียงข้างมากโดยฉันทามติ แต่ก็ไร้ผล จนถึงต้นทศวรรษ ๑๙๘๐ การประนีประนอมแห่งลักเซมเบิร์กเริ่มเสื่อมอิทธิพลลงไปมากเมื่ออังกฤษเรียกร้องให้ยกเลิกความตกลงดังกล่าวเพื่อลดการให้เงินช่วยงบประมาณด้านการเกษตรที่อังกฤษต้องให้แก่ประชาคมยุโรปในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๘๒ แต่ข้อเสนอของอังกฤษถูกยับยั้งจากสมาชิกส่วนใหญ่ในคณะมนตรี อย่างไรก็ดี เมื่อชุดข้อเสนอว่าด้วยเรื่องราคา (price packgage) ของอังกฤษถูกตัดสินด้วยการใช้มติเสียงข้างมากแบบมีเงื่อนไขเพื่อหลีกเลี่ยง การใช้สิทธิยับยั้งของอังกฤษก็ได้ทำให้สมาชิกทั้งห้าที่ลงนามในความตกลงฉบับนี้ยกเว้นฝรั่งเศสเกิดความตระหนักถึงประโยชน์ของการใช้ระบบการออกเสียงข้างมากอย่างมีเงื่อนไขในกระบวนการตัดสินใจ และเห็นว่า จำเป็นจะต้องใช้ระบบนี้ในทุกกรณีตามที่สนธิสัญญาโรมได้ระบุไว้อย่างเคร่งครัด
     นอกจากนี้ แผนเกนเชอร์-โกลอมโบ (Genscher- Colombo Plan) ซึ่งเป็นแผนปฏิรูปสถาบันของประชาคมยุโรปซึ่งตีพิมพ์ในต้นทศวรรษ ๑๙๘๐ ยังได้รวมข้อเสนอที่ระบุให้มีการจำกัดการใช้ความตกลงเพื่อการประนีประนอมแห่งลักเซมเบิร์กในเรื่องเฉพาะที่เกี่ยวกับผลประโยชน์สำคัญของชาติจริง ๆ เท่านั้น ในขณะเดียวกันภายในคณะกรรมาธิการยุโรปและรัฐสภายุโรปก็มีเสียงเรียกร้องให้ยุติการใช้ความตกลงดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยขอให้คณะมนตรีปฏิบัติตามเงื่อนไขของสนธิสัญญาจัดตั้งประชาคมยุโรปอย่างเคร่งครัดรัฐสภายุโรปถึงกับร้องเรียนต่อศาลยุติธรรมยุโรป (European Court of Justice) ให้พิจารณากรณีที่คณะมนตรีไม่ได้ใช้ระบบการออกเสียงข้างมากในบางเรื่องที่เกี่ยวกับกรณีนโยบายร่วมด้านการขนส่ง (Common Transport Policy - CTP) อย่างไรก็ดี ในร่างสนธิสัญญาจัดตั้งสหภาพยุโรป (Draft Treaty Establishing the European Union - DTEU) ของรัฐสภาฉบับ ค.ศ. ๑๙๘๔ ก็ได้ระบุให้ยังคงใช้ความตกลงเพื่อการประนีประนอมแห่งลักเซมเบิร์กในช่วง ๑๐ ปีของระยะการเปลี่ยนถ่ายอำนาจ
     ปัญหาการใช้ความตกลงเพื่อการประนีประนอมฉบับนี้ได้มาถึงจุดเปลี่ยนแปลงสำคัญในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๘๔ เมื่อประธานาธิบดีฟรองซัว มิตแตร์รองแห่งฝรั่งเศสในฐานะประธานของประชาคมยุโรปได้ แสดงสุนทรพจน์ในรัฐสภายุโรปเรียกร้องให้ยุติการใช้การประนีประนอมแห่งลักเซมเบิร์กในกระบวนการตัดสินใจของคณะมนตรี เพราะเห็นว่าเป็นความตกลงที่มีความซับซ้อนและมีปัญหาในการตีความซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงานของประชาคมทั้งยังขัดต่อวัตถุประสงค์ของสนธิสัญญาจัดตั้งประชาคมยุโรปด้วยข้อเสนอของเขาได้รับการขานรับเป็นอย่างดีและกลาย เป็นแรงกระตุ้นให้ความพยายามในการยุติการใช้ความตกลงฉบับนี้บรรลุผล ในที่สุดในการยกร่างกฎหมายยุโรปตลาดเดียวซึ่งเป็นการแก้ไขสนธิสัญญาโรมครั้งแรกก็ได้กำหนดให้มีการใช้ระบบการออกเสียงข้างมากทั้งอย่างมีเงื่อนไขและไม่มีเงื่อนไข (Simple Majority) ในเรื่องต่าง ๆ ในขอบเขตที่ กว้างขวางกว่าเดิม จนทำให้การประนีประนอมแห่งลักเซมเบิร์กถูกยกเลิกไปโดยปริยายเมื่อกฎหมายยุโรปตลาดเดียวมีผลบังคับใช้ใน ค.ศ. ๑๙๘๗ การยกเลิกความตกลงฉบับนี้ส่งผลให้ปัญหาต่าง ๆ ที่เรื้อรังในประชาคมยุโรปมาเป็นเวลานานได้รับการแก้ไขและมีส่วนส่งเสริมให้การบูรณาการยุโรปในช่วงหลังก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว ทั้งยังเป็นพื้นฐานให้สนธิสัญญามาสตริกต์ (Treaty of Maastricht)* กำหนดการใช้ระบบการออกเสียงข้างมากใน สหภาพยุโรป (European Union - EU)* ในขอบเขตที่กว้างขวางกว่าประชาคมยุโร



คำตั้ง
Luxembourg Compromise
คำเทียบ
การประนีประนอมแห่งลักเซมเบิร์ก
คำสำคัญ
- นโยบายร่วมด้านการเกษตร
- สนธิสัญญามาสตริกต์
- สหภาพยุโรป
- กฎหมายยุโรปตลาดเดียว
- การประนีประนอมแห่งลักเซมเบิร์ก
- วิกฤตการณ์ที่นั่งว่าง
- สนธิสัญญาโรม
- ประชาคมยุโรป
- โกล, ชาร์ล เดอ
- มูร์วิล, กูฟวร์ เดอ
- มิตแตร์รอง, ฟรองซัว
- เดสแตง, วาเลรี ชีสการ์
- ฮัลล์ชไตน์, วอลเทอร์
- สมัยสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ ๔
- เลอกานูเอ, ชอง
- แผนเกนเชอร์-โกลอมโบ
- ศาลยุติธรรมยุโรป
- สนธิสัญญาจัดตั้งสหภาพยุโรป
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1966-1987
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
๒๕๐๙-๒๕๓๐
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
วิมลวรรณ ภัทโรดม
บรรณานุกรมคำตั้ง
-
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม ๕ อักษร L-O ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กองธรรมศาสตร์และการเมือง 3.L 143-268.pdf